วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555

ประเพณี โล้ชิงช้า อ่าข่า Yaer kuq aqpoeq lawr-e

ประเพณีโล้ชิงช้า




ประเพณีโล้ชิงช้า    Yaer kuq aqpoeq lawr-e
ประเพณีโล้ชิงช้า หรือ อาข่าเรียกว่า “Yaer kuq aq poeq แย้ขู่อาเผ่ว” ซึ่งจะมีการจัดขึ้นทุกๆปีของเดือนสิงหาคม เป็นช่วงที่ผลผลิตกำลังงอกงาม และพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ในระหว่างนี้อาข่าจะดายหญ้าในไร่ข้าวเป็นครั้งสุดท้ายของปีนั้นๆ หลังจากดายหญ้าแล้วก็รอสำหรับการเก็บเกี่ยว ตรงกับเดือนของอาข่าคือ “tsawq la bala ฉ่อลาบาลา” ประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอาข่า ถือเป็นพิธีกรรมที่มีคุณค่ามาก  ด้วยภูมิปัญญาที่ใช้ในการส่งเสริมความรู้แล้ว ยังเกี่ยวพันกับการดำรงชีวิตประจำวันของอาข่าอีกมากมาย
ประวัติความเป็นมาของประเพณีโล้ชิงช้า ประเพณีโล้ชิงช้ามีต้นกำเนิดมาจากในดินแดนที่มีชื่อว่า “จาแดล้อง” คือพื้นที่ประเทศจีนในปัจจุบัน โดยดินแดนแห่งนี้มีผู้นำอาข่า ที่ชื่อ “ข๊ะบา อาเผ่ว หม่อโล๊ะโล๊ะซื่อ” และ  “ค๊อบาอาเผ่วเอวค๊อ ค๊อคอง” เป็นผุ้นำที่ชาวข่าให้ความเคารพนับถือ โดยกล่าวว่า ดินแดนจาแด จะทำการจัดประเพณีโล้ชิงช้า 33 วัน เมื่อเป็นเช่นนี้สมาชิกในดินแดนแห่งนี้ ซึ่งประกอบไปด้วยทั้งคนจนและคนรวย ทุกคนต้องเตรียมเสบียงอาหารไว้เยอะๆ เพื่อเอาไว้ฉลองกันในวันประเพณี นี่คือการบอกเล่าถึงที่มาของประเพณีโล้ชิงช้า
ประเพณีโล้ชิงช้าถือเป็นประเพณีที่ให้ความสำคัญกับผู้หญิง ฉะนั้นผู้หญิงอาข่ามีการแต่งกายด้วยเครื่องทรงต่างๆ อย่างสวยงามที่ได้เตรียมไว้ตลอดทั้งปีเอามาสวมใส่เป็นกรณีพิเศษในเทศกาลนี้ สำหรับหญิงสาวอาข่าจะแต่งกายเพื่อยกระดับชั้นวัยสาวตามขั้นตอน แสดงให้คนในชุมชนได้เห็น พร้อมทั้งขึ้นโล้ชิงช้า และร้องเพลงทั้งลักษณะเดี่ยวและคู่
ประเพณีโล้ชิงช้า จัดขึ้นเพื่อเป็นการฉลองพืชพันธุ์ที่จะได้เก็บเกี่ยวไว้บริโภค เนื่องจากพืชไร่ พืชสวนต่างๆที่ได้ปลุกลงไป พร้องที่จะได้ผลผลิต โดยมีสุภาษิตกล่าวไว้ว่า “ขู่จ่า หม่าโบะ หม่าโบะ” หมายถึง ประเพณีโล้ชิงช้า จะมีอาหารหลากหลายและสมบูรณ์มากมาย หากประเพณีนี้ไม่มี ประเพณีอื่นหรือพิธีกรรมอื่นก็จะไม่มี
       



ลำดับ ประเพณีโล้ชิงช้า





          วันแรก : เป็นพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ 

          โดยผู้หญิงจะไปตักน้ำบริสุทธิ์ที่แหล่งน้ำศักสิทธิ์ของหมู่บ้าน เพื่อนำไปแช่ข้าวสารเหนียวไว้ตำเป็นอาหารเซ่นไหว้บูชา ที่เรียกว่า "ข้าวปุก"

          วันที่สอง : เป็นวันสร้างชิงช้าใหญ่ของหมู่บ้าน และเริ่มโล้ชิงช้า 

          วันนี้จะมีการเตรียมการจัดทำ ชิงช้าใหญ่ประจำหมู่บ้าน โดยฝ่ายชายจะรวมตัวกันออกไปตัดไม้มาทำเสาชิงช้า ส่วนเด็ก ๆ ก็จะได้ชิงช้าของพวกเขาเช่นกัน หลังจากเสร็จสิ้นการทำชิงช้าในตอนเย็น ช่วงกลางคืนจะมีการเต้นรำฉลองชิงช้าจนถึงรุ่งสางของวันใหม่ จากนั้นนักเต้นจะได้รับเชิญจากเจ้าบ้านที่มีน้ำใจดี เลี้ยงอาหาร เครื่องดื่ม 

        




  วันที่สาม : เซ่นไหว้บรรพบุรุษ เลี้ยงฉลอง เต้นรำ 

          วันนี้ในตอนเช้ามีการฆ่าสัตว์เลี้ยงเพื่อทำพิธีกรรม และไว้ต้อนรับแขก ญาติมิตรที่มาเยือน จากนั้นก็จะมีการโล้ชิงช้ากันอย่าสนุกสนาน เด็ก ๆ จะมีชิงช้าของพวกเขา ที่หน้าบ้านไว้เล่นเช่นเดียวกัน พอตกกลางคืนจะมีการเต้นรำตลอดทั้งคืน

          
วันที่สี่ : โล้ชิงช้า และทำพิธีปิด 

          วันนี้เป็นวันสุดท้ายของงานปีใหม่ ผู้ที่ยังไม่ได้โล้ชิงช้า ต่างก็จะพากันมาโล้ชิงช้ากันเป็นวันสุดท้าย ก่อนที่หมอผีประจำหมู่บ้านจะผูกสายชิงช้าไว้ก่อนตะวันตกดิน ซึ่งก็คือสิ้นสุดเทศกาลปีใหม่ของชาวอาข่า ส่วนชิงช้าจะถูกปล่อยทิ้งไว้จนกว่าปีใหม่จะเริ่มขึ้นอีกในปีต่อไป โดยห้ามไม่ให้ใครมาเล่นหรือแตะต้องเสาชิงช้าเด็ดขาด หากมีการฝ่าฝืนประเพณีนี้ต้องมีการลงโทษจากชุมชน





เรียยเรียงโดย 

น.ส. รัชนี เชอหมื่อ  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น